ประวัติชุมชน/ที่ตั้งชุมชน
บ้านกู่กาสิงห์ แต่เดิมทีนั้นเป็นชุมชนโบราณมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายจวบจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ในสมัยวัฒนธรรมเขมร เพราะมีภาชนะดินเผาในพิธีกรรมการฝังศพครั้งที่ 2 และโบราณสถานขอม กู่กาสิงห์ กู่โพนวิทและกู่โพนระฆัง (กู่ มีความหมายเดียวกับปราสาท) ตั้งอยู่ในบริเวณชุมชน โดยทำเลเดิมของบ้านกู่กาสิงห์แห่งนี้เป็นป่ารกทึบ ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่ ส่วนบริเวณปรางค์กู่ก็ถูกปกคลุมไปด้วยป่าไผ่ จนได้มีชาวบ้านสุวรรณภูมิเริ่มขยับขยายถิ่นฐานและย้ายมาอยู่อาศัย ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ หรือทำเล ของบ้านกู่กาสิงห์ในปัจจุบัน เนื่องจากได้รับการกดขี่จากผู้ปกครองที่ไม่เป็นธรรมและได้ตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ตามโบราณสถานขอมซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน เป็นชื่อมงคลว่า ‘กู่กาสิงห์’ จากนั้นเมื่อชาวสุวรรณภูมิเริ่มทราบข่าวว่ามีคนย้ายมาตั้งรกราก ณ สถานที่ที่อุดมสมบูรณ์นามว่ากู่กาสิงห์แห่งนี้ คนก็เริ่มย้ายตามมามากขึ้นจนถึงปัจจุบันกลายเป็นบ้านกู่กาสิงห์ที่คนในชุมชนมีความเป็นอยู่แบบเครือญาติ มีการเคารพผู้อาวุโสและประกอบอาชีพหลักคือการทำไร่ทำนาในผืนนาที่อุดมสมบูรณ์อย่างทุ่งกุลาร้องไห้ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ที่ตั้งชุมชน : หมู่ 2 ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด
จำนวนประชากร
- 1,450 ครัวเรือน
- ประชากรทั้งหมด 4,650 คน : ชาย 2,255 คน หญิง 2,395 คน
อาชีพหลัก
- ทำนาข้าวหอมมะลิ
อาชีพรอง
- ขับรถไถ
- รับจ้างไถนา
- ทอผ้าไหม
วัฒนธรรมประเพณี / เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ชุมชน
- ชาติพันธุ์ไทยลาว
- การแต่งกายผ้าไหมกู่กาสิงห์
- ประเพณีบุญบั้งไฟกู่กาสิงห์
- ประเพณีสรงกู่
- ประเพณีเลี้ยงปู่ตา
- ประเพณีทำบุญตักบาตรสระแก
- วิถีชาวนา
ผลิตภัณฑ์ของชุมชน
- ผ้าไหมพื้นบ้าน
- ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม เช่น กระเป๋า ผ้าขาวม้า ฯลฯ
- ข้าวหอมมะลิ
- ปลาร้าดิบ