กิจกรรมการทำกะปิ
โดยความพิเศษของกะปิที่นี่คือการใช้กุ้งหัวมันแทนเคย ซึ่งจะทำให้มีรสชาติหวานกว่ากะปิทั่ว ๆ ไป การทำกะปินี้จะเริ่มจากนำกุ้งมาตากแดด เสร็จแล้วนำมาตำ และใส่เกลือลงไปในสัดส่วน 1:10 กิโลกรัม ตำไปเรื่อยๆ และหมักไว้ 2 วัน และนำมาตำต่ออีกก็จะได้กะปิแสนอร่อยนี้ ซึ่งชาวบ้านจะนำกะปิไปทำทั้งของคาวและของหวาน ตั้งแต่น้ำพริกไปจนถึงกะปิน้ำปลาหวาน โดยทางคณะจะได้รับข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำไปคิดสร้างแบรนด์ดิ้งและ ออกแบบ packaging สำหรับเป็นไอเดียให้ชุมชนต่อไป
กิจกรรมการแข่งขันกันทำกะปิน้ำปลาหวาน
โดยมีปราชญ์ชาวบ้านมาสอนวิธีการทำ แล้วให้แต่ละทีมแยกย้ายกันไปตำเครื่องปรุงในครกหินแบบฉบับดั้งเดิมของชาวบ้านกันอย่างสนุกสนาน วิธีการทำก็ง่ายๆคือ ใส่หอมแดงและพริกลงไปก่อน จากนั้นก็ตามด้วยกะปิ น้ำตาลปี๊ป และกุ้งแห้ง ทีมไหนทำได้รสจัดจ้านถูกใจคนท้องถิ่นชุมชนชาวลีเล็ดก็จะเป็นผู้ชนะได้ของรางวัลเป็นกะปิแท้ ๆ ไป
กิจกรรมล่องเรือค้นหาสินทรัพย์
พิชิตป่า Amazon ลีเล็ด
- ภารกิจที่ 1 : ทำขนมลูกจาก โดย แบ่งทีม 5-6 คน ล่องเรือไปตามแม่น้ำ พุนพิน แข่งขันกันไปเก็บลูกจาก เมื่อได้ของครบเรียบร้อย ทุกทีมต้องนำลูกจากมาทำขนม ทีมไหน ทำขนมได้อร่อยที่สุด ทีมนั้นชนะ
- ภารกิจที่ 2 : แข่งขันห่อขนมจาก โดยปราชญ์ชาวบ้านจะสาธิตวิธีการทำขนมจากซึ่งมีส่วนผสมหลัก ๆ คือ มะพร้าวชิ้น มะพร้าวขูด น้ำตาลมะพร้าว แป้ง และที่พิเศษสุดคือฟักทอง ส่วนการห่อขนมจากนั้นจะใช้ส่วนที่ 2 ของทางจาก เพื่อห่อขนมก่อนนำไปปิ้งให้สุกกรอบ
- ภารกิจที่ 3 : แบ่งทีม 5-6 คน ล่องเรือไปตามแม่น้ำ พุนพิน ค้นหาต้นไม้ ตามโจทย์ที่ปราชญ์ชาวบ้านบอกให้ตามล่าหา ต้นไม้ที่หายาก โดยทีมต้องถ่ายรูปจากโทรศัพท์ ต้นไม้นั้นๆ ใครหาได้ครบและถูกต้อง เยอะที่สุด ทีมนั้นเป้นทีมที่ชนะ
- ภารกิจที่ 4: กิจกรรม “วางอวนปู ปลา กุ้ง” ส่งตัวแทนไปสัมผัสวิถีชาวเลด้วยการออกเรือไปวางอวนปู ปลา กุ้ง ซึ่งคุณจะได้สัมผัสชีวิตชาวเล และยังได้ กุ้ง ปลา ปู สดๆ ทีมไหนได้ปลุ ปลากุ้ง เยอะที่สุด ทีมนั้นชนะ
กิจกรรมร่วมกันคิดคำขวัญ
หรือคำสร้างแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการมาเที่ยวครั้งนี้ โดยจะให้เวลาทั้งหมด 10 นาทีและจะมีกำนันเป็นผู้ตัดสิน ทีมที่ได้รับคัดเลือกจะเป็นผู้เขียนป้ายคำดังกล่าวไปติดตามที่ต่างๆ ในพื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงบริเวณ Walkway นอกจากจะเป็นการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวแล้ว สิ่งนี้ยังเป็นดั่งของที่ระลึกหรือคำขอบคุณจากผู้ที่เคยมาเยี่ยมเยียน อีกทั้งยังทำให้คนในชุมชนรู้สึกภาคภูมิใจในชุมชนของตนเอง เพื่อสร้างสรรค์ให้เป็นนิทรรศการธรรมชาติที่เรียกว่าต้นไม้พูดได้